Sunday, February 21, 2010

ความหมุนของลูกปิงปอง

ลักษณะการหมุนของลูกปิงปอง แบ่งออกเป็น 5 ชนิด ดังนี้

1. TOP SPIN (หมุนไปข้างหน้า)
ลักษณะความหมุนชนิดนี้ ลูกปิงปองจะหมุนจากด้านล่างขึ้นด้านบน หากจะเปรียบเทียบจะหมุนเหมือนกับล้อรถยนต์ที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า ความหมุนชนิดนี้หากลูกปิงปองมากระทบหน้าไม้เรา จะมีความรู้สึกว่าลูกที่ตีไปจะสูงกว่าปกติ การบังคับหน้าไม้สำหรับตีความหมุนของลูกปิงปองชนิดนี้จึงต้องปิดหน้าไม้ตลอดเวลาสำหรับการจะตีลูก TOP SPIN นี้ หน้าไม้จะต้องลากขึ้นจากล่างขึ้นบน หากจะให้ลูกมีความหมุนที่มีประสิทธิภาพต้องออกแรงตีให้สัมพันธ์กับการสัมผัสลูกรวมถึงตำแหน่งต่างๆ บนลูกปิงปองอีกด้วย ยิ่งหากต้องการให้ลูกมีความหมุนมากที่สุด หน้าไม้จะต้องกระทบตำแหน่งของลูกในส่วนที่ใต้ลูกที่สุด

2. BACK SPIN (หมุนกลับหลัง)
ความหมุนชนิดนี้ ลูกจะหมุนถอยหลัง หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ลูกตัด" นั่นเอง หากจะเปรียบเทียบกับการหมุนของล้อรถ ก็เปรียบได้ขณะขับรถถอยหลัง สำหรับความหมุนชนิดนี้จะบังคับลูกปิงปองให้ตีติดเน็ตอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นการจะตีลูกที่ความหมุนชนิดนี้จะต้องเปิดหน้าไม้ตีกลับไปสำหรับการจะตีลูก BACK SPIN หรือ ลูกตัด ให้มีประสิทธิภาพนั้น ตำแหน่งที่จะตีบนลูก ควรจะตีตำแหน่งใต้ลูกมากที่สุด โดยจะต้องออกแรงในจังหวะที่ลูกมากระทบหน้าไม้ มุมของหน้าไม้ที่จะกระทบลูกต้องตีลักษณะเสียดสีและเร็วให้มากที่สุด

3. SIDE SPIN (หมุนด้านข้าง)
การหมุนของลูกปิงปองชนิดนี้จะมีความหมุนเหมือนกับการหมุนของการเล่น"ลูกข่าง" ซึ่งความหมุนจะหมุนได้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ความหมุนของลูกชนิดนี้เมื่อมากระทบหน้าไม้ของเรา จะให้ความรู้สึกว่าลูกปิงปองถูกบังคับให้ออกด้านข้างตลอดเวลา ฉะนั้นวิธีการตีความหมุนของลูกชนิดนี้ คือ ต้องตีตรงข้ามกับความหมุนที่มาจึงจะทำให้ตีได้ง่ายขึ้น แต่หากเป็นมือระดับสูงแล้ว สามารถใช้เทคนิกตีลูกตามความหมุนที่มาได้เช่นกัน

4. MIX SPIN (หมุนแบบผสม)
การหมุนของลูกปิงปองชนิดนี้ จะขึ้นอยู่กลับมุมของหน้าไม้ที่กระทบลูกในจังหวะที่ตี รวมถึงสามารถเปลี่ยนมุมกระทบในจังหวะที่ตีเพื่อหลอกคู่ต่อสู้ได้อีกด้วย

5. NO SPIN (ไม่มีความหมุน)
ลักษณะของความหมุนชนิดนี้ จะมีความหมุนมาเช่นกัน แต่จะน้อยมาก วิธีตีลูกความหมุนแบบนี้ จะต้องตีบริเวณกลางลูก และออกแรงตั้งฉากกับบริเวณกลางลูกปิงปอง

ซึ่งการหมุนของลูกปิงปองในแบบต่างๆนี้ เกิดจากการสัมผัส ระหว่างไม้ปิงปองกับลูกปองปองในตำแหน่งต่างๆ จึงทำให้เกิดการหมุนที่แตกต่างกันออกไป